อัพเดทล่าสุด: 5 ต.ค. 2566 | 397 ผู้ชม | พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นำทีมเข้าตรวจสอบโรงงานเย็บผ้าในพื้นที่แม่สอด หลังพบข้อมูลการใช้แรงงานบังคับ 20 ธ.ค 65
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นำทีมเข้าตรวจสอบโรงงานเย็บผ้าในพื้นที่แม่สอด หลังพบข้อมูลการใช้แรงงานบังคับ ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดีย กรณีพบโรงงานในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก บังคับใช้แรงงานมากถึง 99 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยทราบภายหลังว่า โรงงานที่ปรากฏในสื่อ คือ บริษัท วี เค การ์เม้นท์ จำกัด มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เลขที่ 48, 50, 52, 54, 56, 126, 128 และ 130 ซ.สมเด็จพระเจ้าตากสิน 13 ถ.สมเด็จพระเจ้าตากสิน แขวงสำเหร่ เขตธนบุรี กรุงเทพฯ ประกอบกิจการรับจ้างเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีสาขาอยู่ที่เลขที่ 608 หมู่ 7 ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก มีลูกจ้างรวม 146 คน (แยกเป็นลูกจ้างสัญชาติไทย 6 คนสัญชาติเมียนมา 140 คน) จากกรณีดังกล่าว วันนี้ (20 ธ.ค.65 ) เวลาประมาณ 12.00 น. พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร./ ผอ.ศพดส.ตร., พล.ต.ต.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย รอง ผบช.ทท./หน.ชุดปฏิบัติการ TATIP, พล.ต.ต.ปกปภพ บดีพิทักษ์ ผบก.ภ.จว.ตาก และ นายเกริกไกร นาสมยนต์ ผู้ตรวจราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ตม.จว.ตาก เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สอด บูรณาการกำลังเข้าตรวจสอบข้อมูลยังสถานที่ดังกล่าว จากการสืบสวนเบื้องต้นทราบว่า เมื่อปี 2563 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้คำสั่งสินค้าลดลง จึงประสงค์ลดวันทำงาน จาก 6 วัน เหลือ 5 วัน ต่อสัปดาห์ พร้อมให้ลูกจ้างเขียนใบสมัครใหม่ ลูกจ้างไม่ยินยอม นายจ้างจึงไม่ให้ลูกจ้างเข้าทำงาน ซึ่งทางพนักงานตรวจแรงงานได้แก้ไขข้อขัดแย้งแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.63 มีลูกจ้างบางส่วนยินยอมเขียนใบสมัครใหม่ ส่วนที่เหลือ 136 คน ไม่ยินยอมและได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 ค่าล่วงเวลา ค่าจ้างในการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งมีการฟ้องร้องคดีต่อศาลแรงงานภาค 6 ตามคดีหมายเลขดำที่ ร324/2564 ศาลมีคำพิพากษาแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานในส่วนของค่าชดเชย โดยสั่งจ่ายเพิ่มขึ้นตามอายุงานจริงที่นำสืบได้ภายหลัง ตามคดีหมายเลขแดงที่ ร1030/2565 ปัจจุบันนายจ้าง (โจทก์) และลูกจ้างกับพวกรวม 136 คน (ผู้ร้องสอด) อยู่ในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.65 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงได้สั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่สอด ภ.จว.ตาก ร่วมกับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำเนินการสอบสวนปากคำแรงงานทั้งหมด โดยจะประสานกับทีมสหวิชาชีพ จัดหาสถานที่สอบสวน และประสานหาล่ามแปลภาษา เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นไปตามข้อเท็จจริง นอกจากนั้นจะให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัด เตรียมจัดหาตำแหน่งงานมารองรับ เพื่อความปลอดภัยและสบายใจของแรงงาน เนื่องจากแรงงานดังกล่าวไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด รวมถึงการสู้รบตามแนวชายแดน ในส่วนของลูกจ้างที่เข้าให้ปากคำกับตำรวจ จะได้ประสานตำรวจท้องที่ เพื่อให้ประสานกับเจ้าของโรงงาน เพื่อให้ได้รับการดูแลตามสิทธิ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทราบเหตุดังกล่าว ได้ประสานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้มาร่วมตรวจสอบกรณีดังกล่าวโดยเร่งด่วนทันที ซึ่งจากการตรวจสอบในเบื้องต้น หลังจากที่ได้เดินดูภายในสถานที่ทำงานและบ้านพัก ได้มีโอกาสพูดคุยกับแรงงานบางส่วนพบว่า ทางบริษัทมีปัญหาในการจ่ายแรงงานให้กับลูกจ้าง ซึ่งเป็นคดีอยู่ในศาลแรงงานในขั้นตอนของการอุทธรณ์ ส่วนในเรื่องของความผิดเกี่ยวกับแรงงานบังคับนั้น ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตรียมการนำแรงงานทั้งหมดเข้ากระบวนการคัดแยกเหยื่อ เพื่อรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐาน หากพบว่ามีการกระทำผิดจริง ก็จะดำเนินคดีในทุกมิติ ทั้งความผิดตาม พ.ร.บ.แรงงาน และค้ามนุษย์ ในส่วนของแรงงานนั้น ก็ได้ประสานอุตสาหกรรมจังหวัดให้ช่วยหาทางออกในเรื่องของตำแหน่งงานมารองรับในระหว่างที่แรงงานไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ รวมทั้งให้ทางเจ้าของโรงงานดูแลความเป็นอยู่ให้กับลูกจ้าง ให้รู้สึกไม่กดดันระหว่างการทำงาน ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ จะต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการจัดลำดับปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย เนื่องจากในขณะนี้ อยู่ระหว่างที่คณะกรรมการเขียนรายงานเพื่อยื่นเสนอให้พิจารณา ก่อนจะมีการประกาศผลช่วงต้นปี 2566